ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใครและขี้ข้าใคร : 12 ภาพยนตร์ที่แสดงออกถึงเสรีภาพของศิลปะ

ศิลปะนอกจากจะเป็นสื่อบันเทิงที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป อีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญคือการเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ต่อต้านระบอบที่กดทับความเป็นคน เป็นสิ่งที่ส่งเสียงจากผู้ถูกกดขี่สู่ผู้มีอำนาจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและที่ได้เป็นประจักษ์พยานต่อการทำงานของรัฐ เราได้แต่เฝ้าถามว่า หน้าที่ของศิลปะที่พวกเขาอยากให้เป็นมันเป็นอย่างไรกันแน่ นับตั้งแต่ประโยคของ อ.ทัศนัย เศรษฐเสรี ที่ลุกขึ้นมาทวงถามถึงเสรีภาพในการแสดงออกของศิลปะ หลังจากที่มีบุคลากรในมหาลัยเข้ามารื้อผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปจนถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในหมู่บ้านทะลุฟ้า การจับกุมกลุ่มศิลปะปลดแอก นักการละคร ศิลปินผู้ที่ส่งเสียงต่อต้านอย่างสันติ รวมไปถึงวิธีการปฎิบัติต่อผู้ถูกจับกุมที่ดูแคลนความเป็นมนุษย์ของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่เชื่อมโยงสำหรับสองเหตุการณ์ที่ทำให้เราตระหนัก คือศิลปะนั้นถูกครอบงำด้วยอำนาจของพวกเขามากเกินไปแล้ว และศิลปะใดที่ต่อต้านพวกเขาจะต้องถูกกำจัดทั้งหมดไม่มีข้อยกเว้น

คำตอบของคำถามที่ว่า “ศิลปะควรรับใช้ใคร” อาจมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานะและจุดยืนของแต่ละฝ่าย แต่หากเปลี่ยนคำถามในตอนนี้ว่า “ศิลปะในตอนนี้ต้องรับใช้ใคร” อาจได้คำตอบไปในทางเดียวกัน แต่ในหนทางการสื่อสารของศิลปะที่ตีบตันเล็กแคบลงทุกวัน ยังคงมีเสียงเพลงที่คอยกู่ก้องถึงความอยุติธรรมของสังคมที่ยังคงเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีภาพวาดที่คอยแสดงถึงแนวคิดของที่เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ยังคงมีกวีที่เป็นตัวแทนของคนทุกชนชั้นคอยขับขาน ยังคงมีละครเวทีที่คอยขับเคลื่อนไปตามบทสนทนาและการเคลื่อนไหวของร่างกายเพื่อแสดงถึงความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัด ยังคงมีภาพถ่ายที่สะท้อนความจริงอันไร้การปรุงแต่ง และยังมีภาพยนตร์ที่คอยสะท้อนเรื่องราวถึงศิลปะที่มีหลากหลายหน้าที่ เป้าหมายของศาสตร์ศิลปะทุกแขนงนั้นมี คืออิสระในการแสดงออกโดยไร้ขอบเขตและไร้อำนาจควบคุม

แน่นอนว่าภาพยนตร์คือหนึ่งในศาสตร์ของศิลปะ แต่หนทางของการเป็นอิสระนั้นไม่เคยง่าย พวกเขาล้วนต่างต้องหาทางภายใต้สังคมเจ้าแห่งการตีกรอบ นี่คือ 12 ภาพยนตร์ที่แสดงแสงแห่งการดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งการบรรลุเป้าหมายแห่งศิลปะ การตั้งคำถาม ดิ้นรน และต่อต้านถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจของการสร้างศิลปะ และถ้าหากประเทศนี้ขาดศิลปะ สีสันของที่นี่คงถูกย้อมจนเหลือมีเพียงแค่สีเดียว


1. Before Night Falls (2000, Julian Schnabel)

หนังที่สร้างจากอัตชีวประวัติของกวีและนักเขียนนิยายของคิวบา Reinaldo Arenas ที่เล่าตั้งแต่เรื่องราวตอนเด็กจนในปี ค.ศ. 1964 เริ่มไปเข้ากลุ่มกับฟิเดล คาสโตร นักปฏิวัติและนักการเมืองที่ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีในภายหลัง เพศสภาพที่เขาเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ และการเขียนของเขากลายเป็นภัยทำให้เขาถูกจับแต่ด้วยข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ หนังสือของเขาถูกแบนและทำให้เขาติดคุกสองปี Reinaldo ต้องอดทนกับการกดขี่ข่มเหงให้งดแสดงออกผ่านผลงานจากการเซ็นเซอร์ และความกดดันจากทางรัฐบาล เขายอมออกจากประเทศตัวเอง เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตตัวเองที่อเมริกาอีกครั้ง ถึงกระนั้นเขายังคงต่อสู้เพื่อการแสดงออกทางการเมือง และเสียชีวิตในปี 1990


2. Burma Storybook (2017, Petr Lom)

ภาพยนตร์สารคดีที่ฉายภาพสังคมพม่าหลังช่วงเวลาอันยากลำบากแห่งยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ผ่านบทกวีมากความรู้สึก และมีครอบครัวของ Maung Aung Pwint เป็นผู้ดำเนินเรื่อง

Maung Aung Pwint คือกวี คือนักทำงานเคลื่อนไหว คืออดีตนักโทษการเมืองที่เคยถูกจองจำอยู่ในห้องขังแคบๆ มายาวนาน คือหนึ่งในผู้สะท้อนความรู้สึกอันเจ็บปวด ผ่านบทกวีที่งดงามมากมาย แต่ไม่ใช่เพียง Maung Aung Pwint และครอบครัวเท่านั้น ตัวหนังจะพาเราเดินทางไปสัมผัสถึงความเป็นกวีผ่านชีวิตของผู้คนชาวพม่า ซึ่งสอดแทรกเป็นหนึ่งเดียวไปตลอดเรื่อง


3. Seberg (2019, Benedict Andrews)

ภาพยนตร์ระทึกขวัญได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของนักแสดงสาวชาวอเมริกัน Jean Seberg ผู้โด่งดังจากภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง ‘Breathless’ ของผู้กำกับยุค French New Wave อย่าง Jean-Luc Godard เธอตกเป็นเป้าของ FBI เนื่องจากเธอร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ความเท่าเทียมและต่อต้านการละเมิดสิทธิพลเมืองผิวสีที่เคียงข้างกับ Hakim Jamal ชายผิวสีผู้ถูกละเมิดสิทธิ์ซึ่งเธอได้บังเอิญพบเข้าขณะเดินทางกลับจากฝรั่งเศส เธอตัดสินใจลุกขึ้นต่อต้านการเหยียดผิวและทวงคืนความถูกต้องในสังคมอเมิกา แม้จะต้องเดิมพันด้วยชื่อเสียงและอาชีพนักแสดงที่เธอรักก็ตาม


4. Stefan Zweig: Farewell To Europe (2016, Maria Schrader)

หนังเล่าถึงชีวิตของ Stefan Zweig นักเขียนชาวยิวในออสเตรีย และช่วงชีวิตการลี้ภัยของเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1936-1942 Zweig เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น แต่ด้วยการเป็นปัญญาชนชาวยิวทำให้เขาต้องเผชิญกับความโหดร้ายของกองทัพนาซี จนเขาต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตที่อเมริกาใต้ ที่นั่นเขาถูกยกย่องเป็นนักเขียนคนสำคัญของโลก แต่มันก็ไม่อาจช่วยอะไรได้เมื่อยุโรปกำลังล่มสลาย และการที่เขารู้ว่าเพื่อนต้องเสียชีวิตจากน้ำมือของนาซีไปทีละคน หนังแสดงให้เห็นว่าชีวิตของการอยู่เป็นผู้ลี้ภ้ยนั้นเป็นอย่างไร และการตัดสินใจที่ยากที่สุดระหว่างการปิดปากเงียบหรือออกมาต่อสู้ เมื่อต้องเจอกับการปกครองแบบเผด็จการ


5. Unfinished Song (2001, Maziar Miri)

Farhad นักมานุษยดนตรีวิทยาหนุ่มผู้กลับมาที่ Khorasan บ้านเกิดของเขาในอิหร่าน เพื่อบันทึกและอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านดั้งเดิม แต่เมื่อเขาไปถึงก็พบว่าดินแดนที่เคยรุ่มรวยไปด้วยเสียงดนตรี กลับมีเพียงแค่เพลงกล่องและเพลงสวดเท่านั้นที่สามารถเล่นได้ เนื่องจากมีกฎที่ทำให้ผู้หญิงห้ามร้องเพลงในอิหร่านเอง จนเขาได้ไปเจอกับ Heyran ที่ถูกขังอยู่ในคุกด้วยเหตุผลบางอย่าง เขาพยายามตามหาและหวังให้เธอได้ร้องเพลงเพื่อบันทึกเพลงเหล่านั้นเก็บไว้ แต่การพบเจอระหว่างทั้งสองคนนั้นเปิดเผยถึงอีกความลับที่เชื่อมโยงระหว่างตัวเธอกับครอบครัวของเขา และเหตุผลที่ความรักในเสียงเพลงของเธอกลับทำให้ชีวิตของเธอถูกกดขี่และทำร้ายเธอมาจนถึงตอนนี้


6. Farewell My Concubine (1993, Chen Kaige)

Farewell My Concubine ครอบคลุมเรื่องราวตั้งแต่ทศวรรษ 1920 ยุคสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง การพ่ายแพ้ของกองทัพญี่ปุ่น การโค่นล้มพรรคก๊กมินตั๋งโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนถึงยุคหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยบอกเล่าชีวิตและความสัมพันธ์อันยาวนานกว่า 50 ปีของสองนักแสดงในคณะงิ้วปักกิ่ง ผู้ถูกฝึกฝนเคี่ยวกรำตั้งแต่วัยเยาว์จนเติบใหญ่ และต้องเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงผันผวนของโลกใบนี้อย่างแสนรวดร้าว


7. Bamseom Pirates Seoul Inferno (2017, Jung Yoon-suk)

สารคดีเดือดพล่านเรื่องล่าสุดของ “ชองยุนซอก” ที่พาเราไปติดตามชีวิตโลดโผนของสองหนุ่มนักศึกษา มือกลองและมือเบสวง “Bamseom Pirates” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2010 และสร้างชื่อในฐานะ “วงอื้อฉาวที่สุดของเกาหลี” ด้วยการเป็นพังค์ ผสมแบล็คเมทัล, ฟรีแจสส์ และเพอร์ฟอร์มานซ์อาร์ต บวกกับอารมณ์ขันอันเสียดสี และความคลั่งแค้นอันร้ายกาจ ความเป็นพังค์ของพวกเขาคือการตั้งคำถามกับสิ่งที่อันตราย และเป็นเรื่องต้องห้ามในเกาหลีใต้ คือการพูดถึงและเชิดชูเกาหลีเหนือ ก่อนที่เส้นทางจะพลิกผันเมื่อโปรดิวเซอร์ของวงถูกจับข้อหา “ละเมิดกฎหมายความมั่นคง”


8. The Golden Era (2014, Ann Hui)

แอนน์ ฮุย ผู้กำกับชั้นเอกชาวฮ่องกงหยิบเอาชีวิตของ เซียวหง นักเขียนหญิงชาวจีนคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 มาทำหนังเป็นหนังอัตชีวประวัติ

ทังเหว่ย (Lust, Caution) รับบทเซียวหงตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นที่แข็งขืนหนีการคลุมถุงชนออกจากบ้านฐานะดีไปยังปักกิ่ง แต่ชีวิตรักกับลูกพี่ลูกน้องก็ล่มสลายลงหลังจากนั้นไม่นานนัก เช่นเดียวกับคู่หมั้นที่ภายหลังทิ้งให้เธออยู่อย่างยากจนพร้อมลูกในท้อง ณ เมืองห่างไกลอย่างฮาร์บิน ก่อนก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์หนักหน่วงยาวนานห้าปีกับ เสี่ยวจุน บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผู้เห็นจดหมายขอความช่วยเหลือของเธอลงในหนังสือพิมพ์ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงการนักเขียนฝ่ายซ้ายของจีน กระทั่งฝ่ายชายตัดสินใจเข้าร่วมกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่น ส่วนเซียวหงแต่งงานใหม่และใช้ชีวิตยากลำบากเพื่อหาความสงบกับงานเขียนหนังสืออันเป็นอุดมคติของเธอ


9. This Is Not a Film (2011, Jafar Panahi)

หลังจากที่ผู้กำกับจาฟาร์ ปาร์นาฮีโดนโทษจำคุก 6 ปี และห้ามสร้างหนังเป็นเวลา 20 ปี ฐานต่อต้านรัฐบาล เขาถูกกักขังไว้ในบ้านส่วนตัวไม่ให้ออกไปไหน จึงทำให้เขาร่วมงานกับ Mojtaba Mirtahmasb ใช้กล้องดิจิตอลและไอโฟนถ่ายชีวิตประจำวันของตัวเอง สลับกับการจำลองซีนหนังที่เขากำลังวางแผนจะถ่ายทำแต่ต้องล้มเลิกไป ในขณะที่เวลาของภายนอกยังคงเดินไปเรื่อยๆ ปาร์นาฮียังตั้งคำถามเกี่ยวกับเส้นแบ่งของความเป็นจริงกับความเป็นภาพยนตร์ได้อย่างน่าทึ่ง และยังสร้าง statement ที่ท้าทายต่ออำนาจของรัฐในการปิดบังเสรีภาพในการแสดงออกเพราะเขาได้ส่งไฟล์หนังเรื่องนี้ไปให้เทศกาลหนังเมืองคานส์ ผ่านแฟลชไดรฟ์ใส่ลงไปในเค้กวันเกิดส่งไปที่ฝรั่งเศส แถมดันปรากฏว่าทันฉายซะด้วย


10. Afterimage (2016, Andrzej Wajda)

ช่วงปี 1956 ในประเทศโปแลนด์ถูกปกครองดว้ยระบอบของโจเซฟ สตาลิน Wladislaw Strzeminski จิตรกรแนว avant-garde และอาจารย์สอนเรื่องศิลปะในมหาวิทยาลัย ปฏิเสธหลักสูตรศิลปะจากรัฐบาลว่ามีเพียงแค่ศิลปะแนวสัจนิยมสังคม (Social Realism) เท่านั้นที่จะใช้สอนในโรงเรียนได้ ผลจากการปฏิเสธครั้งนั้นทำให้เขาถูกปลดจากการเป็นอาจารย์ ศิลปะของเขาที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ก็ถูกทำลายทิ้ง เพื่อปฏิเสธการมีตัวตนในฐานะศิลปินของเขา แต่ด้วยการสนับสนุนของเหล่าลูกศิษย์ ทำให้เขาเริ่มต่อสู้กับอำนาจของเบื้องบน และทำให้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของศิลปินที่จะปลดแอกการกดขี่ทางด้านศิลปะและวิชาการของรัฐบาล


11. The Puppetmaster (1993, Hou Hsiao-hsien)

หนังไต้หวันเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (และได้รางวัล Jury Prize ในปีนั้นกลับมา) เล่าเรื่องราวของ Li Tien-Lu นักเชิดหุ่นที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ที่อยู่ในช่วงความวุ่นวายในศตวรรษที่ 20 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และไต้หวันถูกยึดครองประเทศญี่ปุ่นในปีค.ศ. 1895 ยาวนานนับ 50 ปี หนังเล่าเรื่องตั้งแต่ชีวิตของ Li ตอนเด็กๆ จนถึงจบช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศนั้นสะบักสะบอมหลังจากผ่านสงครามมา นักเชิดหุ่นนั้นกลับกลายเป็นหุ่นที่ถูกเชิดเสียเอง เมื่อเขาต้องตกเป็นเชลยเพื่อสร้างสื่อโฆษณาชวนเชื่อให้กับญี่ปุ่น นี่คือหนึ่งในไตรภาคประวัติศาสตร์ของประเทศไต้หวัน ควบคู่ไปกับ A City of Sadness (1989) และ Good Men, Good Women (1995)


12. Matangi/Maya/M.I.A. (2018, Steve Loveridge)

MATANGI / MAYA / M.I.A บอกเล่าเรื่องราวการทางการเดินทางของอดีตเด็กสาวผู้ลี้ภัยผู้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับโลก พบกับจุดเริ่มต้นของ Matangi ผู้มีเชื้อสายทมิฬและเป็นลูกสาวของผู้ก่อตั้งสมาคมต่อต้านความรุนแรงในประเทศศรีลังกา เมื่อต้องเธอตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของสงครามกลางเมืองจึงทำให้เธอต้องหลบหนีและซ่อนตัวจากรัฐบาลของเธอ ครอบครัวของเธอตัดสินใจอพยพไปยังกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ เธอได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในชื่อ Maya และเริ่มฉายแววศิลปินจนทำให้ทั้งโลกต้องตกตะลึงกับการแสดงของเธอและจดจำเธอในชื่อ M.I.A กับบทเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเธอ ผสมผสานเข้ากับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ เชื้อชาติและการเมืองผ่านบทเพลงฮิปฮอป

RELATED ARTICLES